ธนกร แจง รัฐบาลจริงจังแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ชี้คะแนนความหลากหลายของประชาธิปไตยและการถ่วงดุล 3 ฝ่ายเพิ่มขึ้น ลั่นวางระบบธรรมาธิปไตยเพื่อเป็นรากฐานสำคัญให้สังคมไทยในอนาคต วันที่ 27 ม.ค. 65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่พรรคร่วมฝ่ายค้านยังคงหยิบกรณีคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ประจำปี 2564 มาโจมตีรัฐบาลรายวันว่า ยืนยันว่ารัฐบาลมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการทุจริตและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังมาโดยตลอด แม้คะแนนดัชนี CPI ของไทยจะลดลง แต่ภาพรวมการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้นมีความก้าวหน้าและเป็นรูปธรรมมากขึ้น ขอให้มองภาพกว้างในการทำงานของรัฐบาล
ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างสังคมไทยที่ปลอดการทุจริตคอร์รัปชัน
เพราะที่ผ่านมามีรัฐบาลบางชุดที่มีปัญหาทุจริตมากที่สุดจนมีอดีตรัฐมนตรีถูกจำคุกมาแล้ว ทั้งนี้ คะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI) ประจำปี 2564 ซึ่งจัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) และมีการประกาศเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา เป็นการจัดอันดับจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
โดยประเทศไทยได้คะแนน 35 คะแนน จากการใช้แหล่งการประเมินจำนวน 9 แหล่งนั้น แต่หากพิจารณาแหล่งการประเมินทั้ง 9 แหล่งจะพบว่า ประเทศไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้น 1 แหล่ง ได้แก่ แหล่งข้อมูล Varieties of Democracy Institute (V-DEM) ซึ่งวัดเกี่ยวกับความหลากหลายของประชาธิปไตย การถ่วงดุลของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ตลอดจนการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ โดยประเทศไทย ได้คะแนน 26 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่ได้ 20 คะแนน
นายธนกร กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาและป้องกันการทุจริตอย่างจริงจัง โดยประกาศให้การแก้ไขปัญหาการทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งจากรายงานผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบว่า คะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 81.25 คะแนน สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ป.ป.ช. ได้ดำเนินการเกี่ยวกับคดีทุจริตเสร็จแล้วกว่า 4,552 คดี สะท้อนความจริงจังของรัฐบาลในการบังคับใช้กฎหมาย และมุ่งมั่นให้สังคมไทยเป็นสังคมที่โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล นอกจากนี้ รัฐบาลได้ปรับปรุงข้อกฎหมายต่าง ๆ เพื่อให้มีความทันสมัย เป็นสากล ครอบคลุมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเป็นระบบ
โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2565 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ พ.ศ. …. เพื่อป้องกันไม่ให้มีการดำเนินคดีหรือฟ้องคดีปิดปาก และมีกฎหมายคุ้มครองบุคคลที่แสดงความเห็นหรือเปิดโปงเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบ เพื่อความโปร่งใส ขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบในสังคมไทย
‘ธนกร’ เผย นายก เร่งผลักดันความร่วมมือด้าน แรงงาน ไทย – ซาอุดีอาระเบีย
โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ เร่งผลักดันความร่วมมือด้าน แรงงาน ไทย – ซาอุดีอาระเบีย สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทันที ย้ำต้องเห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 2 เดือน แรงงาน ไทย ซาอุดีอาระเบีย – วันนี้ (27 มกราคม 2565) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการให้กระทรวงแรงงานเร่งดำเนินการจัดหาแรงงานไทยที่มีศักยภาพเข้าร่วมทำงานในซาอุดีอาระเบีย
ภายหลังการเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 25 – 26 มกราคม 2565 ซึ่งนอกจากนายกรัฐมนตรีได้เข้าเฝ้าฯ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งซาอุดีอาระเบีย ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องกับขั้นตอนดำเนินการเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคี และการจัดตั้งกลไกการปรึกษาหารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคี เพื่อหารือความร่วมมือทวิภาคีในสาขายุทธศาสตร์ที่สำคัญ นั้น
ในการเดินทางครั้งนี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของไทย ได้หารือทวิภาคีร่วมกับ นายอะห์หมัด บิน สุไลมาน อัลรอยิฮี (Ahmad Sulaiman ALRajhi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาทางสังคม ซาอุดีอาระเบีย โดยทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะผลักดันความร่วมมือด้านแรงงาน โดยเฉพาะในภาคบริการต่าง ๆ ทั้งธุรกิจโรงแรม สุขภาพ ตลอดจนอุตสาหกรรมก่อสร้างในโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งผลจากการหารือทวิภาคีดังกล่าว ทางกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน และสำนักงานแรงงานในกรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย จะเป็นผู้ประสานงานหลักร่วมกับฝ่ายซาอุดีอาระเบีย โดยจะดำเนินการตามข้อหารือต่อไปเพื่อพิจารณาแรงงานไทยเข้าทำงานตามความประสงค์ของซาอุดีอาระเบีย
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีแรงงานไทยเข้าทำงานอยู่ในซาอุดีอาระเบีย จำนวน 1,345 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการแจ้งการเดินทางด้วยตนเอง นายจ้างพาไปทำงาน และระบบ Re-entry โดยมีตำแหน่งที่เข้าทำงานในหลายประเภท เช่น ช่างเชื่อม ช่างเทคนิค ช่างเครื่องยนต์ ผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน ผู้ควบคุมเครื่องจักร คนงานผลิตผลิตภัณฑ์ทั่วไป คนงานควบคุมเครื่องจักร ผู้ช่วยกุ๊ก แม่บ้าน เป็นต้น
นายธนกรฯ กล่าวว่า ในเรื่องความร่วมมือด้านแรงงานกับซาอุดีอาระเบียเป็นความท้าทายที่สำเร็จจากความพยายามของรัฐบาลในการปรับความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย-ซาอุดีอาระเบีย เชื่อมั่นว่าจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ในด้านการยกระดับการพัฒนาฝีมือแรงงานไทย กระตุ้นให้บริษัทจัดหาแรงงานที่อยู่ภายใต้กระทรวงแรงงานปรับปรุงการจัดหาแรงงานที่เป็นธรรม ไม่โก่งราคา คุ้มครองสิทธิแรงงาน และสวัสดิการให้สอดคล้องกับที่ฝ่ายซาอุดีอาระเบียต้องการ
Credit : แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว | แต่งบ้านและสวน | พระเครื่อง | รีวิวกล้องถ่ายรูป